Somme, Battle of the (-)

ยุทธการที่แม่น้ำซอม (-)

ยุทธการที่แม่นํ้าซอมเป็นความพยายามร่วมกันของอังกฤษและฝรั่งเศสในการวางยุทธศาสตร์เชิงรุกครั้งสำคัญเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบชัยชนะ โดยปฏิบัติการตามแนวแม่นํ้าซอมทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ในช่วง “สงครามสนามเพลาะ” (trench warfare) ของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ยุทธการที่แม่นํ้าซอมครั้งนี้มีความสำคัญควบคู่กับยุทธการที่แวร์เดิง (Battle of Verdun กุมภาพันธ์-กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๖) ซึ่งเยอรมนีเป็นฝ่ายรุกรบในแนวรบด้านตะวันออกของฝรั่งเศส แม้ยุทธการครั้งนี้ไม่ประสบผล แต่ก็นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ประเทศคู่สงคราม เป็นความสูญเสียทั้งด้านกำลังพล ขวัญและกำลังใจของกองทัพ ตลอดจนความมุ่งหวังในการทำสงคราม ยุทธการที่แม่นํ้าซอมจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของปฏิบัติการรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑

 ในระยะแรกของสงคราม เยอรมนีไม่สามารถปฏิบัติการตามแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan)* ให้บรรลุผลอีกทั้งยุทธการที่แม่นํ้ามาร์นครั้งที่ ๑ (First Battle of the Marne)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ก็ยังทำให้ความใฝ่ฝันของเยอรมนีที่จะทำลายล้างฝรั่งเศสภายในระยะเวลาอันสั้นตามแผนชลีฟเฟินต้องสิ้นสุดลงอย่างถาวรสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ก้าวสู่ระยะที่ ๒ ที่พลิกความคาดหมายของประเทศคู่สงคราม เพราะสงครามแทนที่จะมีลักษณะเป็นการรุกรบไล่ล่าและเอาชนะกันได้อย่างรวดเร็ว กลับกลายเป็นสงครามสนามเพลาะที่ยืดเยื้อยาวนาน นับแต่ฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๔ ปฏิบัติการรุกรบในแนวรบด้านตะวันตกเกือบหยุดนิ่งจนแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทุกฝ่ายยังคงตรึงกำลังอยู่ในหลุมหลบภัย ซึ่งในบางที่ก็มีการขุดติดต่อกันยาวถึง ๔๘๐ กิโลเมตร ทั้งยังมีการแบ่งสันพื้นที่ใช้งานในหลุมหลบภัย มีการติดตั้งรั้วลวดหนาม ติดตั้งอุปกรณ์การรบและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยให้ทหารประจำแนวรบจำนวนนับหมื่นนับแสนในแต่ละพื้นที่มีชีวิตอยู่ได้ดีพอควร แม้กระนั้นตลอด ค.ศ. ๑๙๑๕ ทหารทั้ง ๒ ฝ่าย ก็ต้องเผชิญกับการใช้ชีวิตที่บั่นทอนขวัญและกำลังใจลงเรื่อย ๆ เพราะแม้ในบางครั้งจะมีการรบประปราย แต่ทหารก็ยังคงใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างน่าเบื่อหน่าย ทนทุกข์ทรมานและสลดหดหู่

 สำหรับกองทัพเยอรมัน แม้ว่าจะได้รับการปลุกเร้าให้มีจิตใจฮึกเหิมด้วยภาพลวงตาว่าชัยชนะเหนือฝรั่งเศสอยู่เพียงแค่เอื้อม เพราะตั้งแต่เริ่มต้นสงครามเยอรมนีก็สามารถยึดครองพื้นที่ของเบลเยียมได้ทั้งหมด และได้ดินแดนฝรั่งเศสไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีทรัพยากรถ่านหินมากถึงร้อยละ ๘๐ และทรัพยากรเหล็กถึงร้อยละ ๙๐ ของประเทศ แต่กลับปรากฏว่าขวัญและกำลังใจของทหารเยอรมันลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก ขณะที่ทหารสัมพันธมิตรเองก็เริ่มไม่แน่ใจว่าจะสามารถตรึงกำลังและรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องพูดถึงการปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองของฝ่ายเยอรมนี สงครามระยะที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ จึงดูจะเป็น “สงครามอันอ่อนล้า” (War of Attrition) ของทุกฝ่าย อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมได้มีการเปลี่ยนแปลงในคณะเสนาธิการกองทัพเยอรมัน โดยนายพลเอริค ฟอน เพาล์เคนไฮน์ (Eric von Paulkenhayn)


ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการแทนนายพลเฮลมุท ฟอน มอลท์เคอ หนุ่ม (Helmuth von Moltke, the Younger) นายพลเพาล์เคนไฮน์ซึ่งยังหนุ่มและมีไฟแรงจึงเสนอให้ใช้แผนรุกรบเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนเพื่อเอาชนะฝ่ายสัมพันธมิตรให้ได้ แต่แผนของเขาก็ล้มเหลวทั้งยังทำให้ทหารฝ่ายเยอรมนีต้องเสียชีวิตจำนวนมาก ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเกิดกำลังใจที่จะใช้ปฏิบัติการโต้กลับเพื่อยึดคืนพื้นที่ แต่ความพยายามก็ไม่บรรลุผลเช่นกันปฏิบัติการในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว ฝรั่งเศสสูญเสียทหารเป็นจำนวนถึง ๔๐๐,๐๐๐ คน และความสูญเสียก็ยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนฝรั่งเศสสูญเสียกำลังพลอีกจำนวน ๑๔๕,๐๐๐ คน จากปฏิบัติการเชิงรุกที่ไร้ผล ทำให้นักการทหารชาวฝรั่งเศสตั้งข้อสังเกตอย่างขมขื่นว่า “สงครามอันอ่อนล้ากำลังสู้กับเราอยู่”

 ฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๑๕-๑๙๑๖ เริ่มระยะที่ ๓ ของสงคราม โดยเยอรมนีประสบความสำเร็จในแนวรบด้านตะวันออกด้วยการเอาชนะรัสเซียและขยายแนวรบด้านนี้ออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เร่งทำให้การรบทางทะเลเข้มข้นขึ้นด้วยปฏิบัติการของเรือดำน้ำและการทำลายการปิดกั้นในสงครามเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันในแนวรบด้านตะวันตก เยอรมนีก็เริ่มปฏิบัติการเรียกคืนขวัญและกำลังใจของทหารเยอรมันควบคู่ไปกับการเขย่าขวัญทหารฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยการเริ่มยุทธการที่แวร์เดิงอันเป็นยุทธการเชิงรุกครั้งใหญ่ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๖ และภายในเวลไม่กี่วันกองทัพเยอรมันกราดยิงป้อมหลายป้อมรอบ ๆ เมืองแวร์เดิงอย่างต่อเนื่อง นับกระสุนที่ตกในบริเวณนั้นถึง ๒ ล้านนัด และเยอรมนีก็มีทีท่าว่าจะยึดเมืองแวร์เดิงได้ในไม่ช้า

 อย่างไรก็ดี ขณะที่สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤติ กองทัพฝรั่งเศสก็ได้อัศวินม้าขาวในนาทีสุดท้ายคือ จอมพล ฟิลิป เปแตง (Philippe Pétain)* ซึ่งขณะนั้นมียศเป็นพันเอกและมีความสามารถในด้านการวางแผนเชิงป้องกัน เปแตงได้รับมอบหมายให้ช่วยวางแผนป้องกันแวร์เดิงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังต้องรับผิดชอบในปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้ เปแตงได้ใช้เวลาตรวจเยี่ยมทหารเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจกลับคืน ทั้งยังเร่งสร้างถนนสายยุทธศาสตร์เพื่อการส่งกำลังบำรุงให้ทันกาลและจัดระบบผลัดเปลี่ยนเวรยามประจำแนวหน้าผลัดละ ๒ สัปดาห์ เพื่อทหารจะได้ตื่นตัวและมีกำลังใจฮึดสู้อยู่เสมอ เปแตงประสบความสำเร็จในการระดมสรรพกำลังจากที่ต่าง ๆ ให้สลับผลัดเปลี่ยนกันอยู่ประจำแนวหน้าอย่างน้อยผลัดละ ๕๐๐,๐๐๐ คน ทำให้การป้องกันแวร์เดิงผ่านไปได้สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าแม้จะถูกโจมตีหนักเกือบตลอดเวลาและมีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ทหารฝรั่งเศสที่สับเปลี่ยนเข้ามาใหม่ทุก ๒ สัปดาห์ก็ยังมีกำลังใจฮึดสู้และสามารถป้องกันเมืองเอาไว้ได้ และเพื่อให้ทหารปฏิบัติภารกิจต่อไปอย่างไม่ย่อท้อในวันที่ ๑๐ เมษายน เปแตงได้ส่งสารสั้น ๆ แต่มีความหมายไปยังทหารในแนวหน้าทุกคนว่า “ความกล้าหาญ! เราจะพิชิตมัน” (Courage! We’ll get them) ต่อมาในเดือนมิถุนายน ทหารฝรั่งเศสก็ได้พิสูจน์ความกล้าหาญเมื่อกองทัพเยอรมันบุกโจมตีป้อมโว (Vaux) อย่างหนัก และปิดล้อมเมืองแวร์เดิงจากด้านนั้นไว้จนกองทัพฝรั่งเศสประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร นํ้า และยุทธปัจจัย ทหารฝรั่งเศสต้องขุดอุโมงค์ในสนามเพลาะเพื่อหาทางลำเลียงอาหารและยุทธปัจจัยเพื่อให้ยังคงมีกำลังตรึงแนวป้องกันไว้ได้ กองทัพฝรั่งเศสได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้ด้วยความกล้าหาญ อดทน เสียสละ และมีวินัย และเมื่อกองทัพได้รับข่าวปฏิบัติการเชิงรุกครั้งใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรในยุทธการที่แม่นํ้าซอมในเดือนกรกฎาคม กองทัพที่แวร์เดิงก็แน่ใจได้ว่าวิกฤตการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่จะผ่านไปได้ด้วยดี

 ยุทธการที่แม่นํ้าซอมเป็นการวางยุทธศาสตร์เชิงรุกครั้งสำคัญของกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบชัยชนะ ในช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๑๖ ทั้ง ๒ ประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ควรปล่อยให้สงครามยืดเยื้อและนำความสูญเสียและความทุกข์ทรมานมากเกินไปแก่ทุก ๆ ฝ่าย ดังนั้น จึงเห็นควรเปิดแนวรบด้านตะวันตกของฝรั่งเศสตามแนวแม่น้ำซอมเป็นแนวยาวกว่า ๓๒ กิโลเมตร ในสงครามสนามเพลาะก่อนหน้านี้การรบแต่ละครั้งมักมีการเปิดแนวรบไม่เกิน ๑๖ กิโลเมตร แต่ครั้งนี้อังกฤษเชื่อในความพร้อมของตนทั้งในด้านยุทธปัจจัยและด้านกำลังพลซึ่งมีเพิ่มขึ้นมหาศาลจากการนำเอาระบบเกณฑ์ทหารมาใช้นายพลเซอร์ดักลาส เฮก (Douglas Haig) ผู้บัญชาการรบของอังกฤษเสนอให้เปิดแนวรบที่กว้างถึง ๔๐ กิโลเมตร เพราะเชื่อว่าจะมีกำลังทหารมากพอที่จะบุกกองทัพเยอรมันเป็นแนวกว้างเพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการตามแผนนี้ต้องเลื่อนออกไปเพราะเกิดยุทธการที่แวร์เดิงขึ้นมาก่อน ทำให้กำลังพลจำนวนมากของฝรั่งเศสต้องถูกส่งไปตรึงกำลังที่แวร์เดิง และเมื่อกองทัพฝรั่งเศสเป็นฝ่ายตั้งรับและอยู่ในฐานะเสียเปรียบเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตัดสินใจเริ่มยุทธการที่แม่นํ้าซอมในวันที่ ๑ กรกฎาคมเพื่อดึงกำลังส่วนหนึ่งของกองทัพเยอรมันออกจากแนวรบด้านแวร์เดิงสู่แนวรบด้านตะวันตก ปฏิบัติการตามแผนยุทธการที่แม่นํ้าซอมจึงตกอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอังกฤษ โดยมีกองทัพฝรั่งเศสร่วมด้วยเพียง ๑๒ กองพล

 ภายในวันแรกของสงคราม กองทัพอังกฤษก็ได้บทเรียนราคาแพงว่ากำลังพลจำนวนมหาศาลและความภูมิใจในยุทธปัจจัยที่มีอยู่ไม่ได้ช่วยให้ได้ชัยชนะ เพราะภายในเวลาเพียง ๑ วันของการสู้รบอันดุเดือด อังกฤษต้องสูญเสียทหารจำนวนถึง ๖๐,๐๐๐ คน รวมทั้งนายทหารชั้นสัญญาบัตรจำนวนกว่าครึ่ง แม้กองทัพฝรั่งเศสจะช่วยอยู่ด้านใต้ของแม่นํ้าซอม และลดขนาดแนวรบจาก ๔๐ กิโลเมตร ลงมาเหลือเพียง ๑๖ กิโลเมตรก็ไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในที่สุดก็ต้องจำกัดพื้นที่การรบเหลือเป็นพื้นที่เล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแนวแม่นํ้าซอมซึ่งก็ไม่ช่วยทำให้การรบคืบหน้าไปได้มากนัก ยุทธการที่แม่นํ้าซอมใช้เวลารวม ๒๐ สัปดาห์ สิ้นสุดในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖ โดยฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถรุกคืบหน้าไปในแนวตั้งรับของฝ่าย เยอรมันเพียงไม่เกิน ๑๖ กิโลเมตร แต่การสูญเสียทหารในแนวหน้ามีจำนวนมหาศาล โดยเยอรมนีสูญเสียประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คนอังกฤษ ๔๑๐,๐๐๐ คน และฝรั่งเศส ๑๙๐,๐๐๐ คน นับเป็นการสูญเสียกำลังพลเกินความคาดคิดจากการรบเพียงครั้งเดียว ซึ่งหากรวมการสูญเสียในยุทธการที่แวร์เดิงที่สิ้นสุดลงในเดือนกันยายนก็เป็นการยากที่จะเข้าใจได้ว่าการสูญเสียทั้งหมดนี้ซึ่งยังไม่ได้นับรวมชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนเป็นไปเพื่ออะไรหรือว่าเป็นไปโดยเปล่าประโยชน์ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจนี่เขย่าขวัญของผู้อยู่ในแนวหน้าทุกคนและทำให้เกิดมีข้อสงสัยขึ้นเป็นครั้งแรกว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชัยชนะจะเป็นชัยชนะที่คุ้มกับการสูญเสียหรือไม่

 ยุทธการที่แม่นํ้าซอมใน ค.ศ. ๑๙๑๖ รวมทั้งยุทธการที่แวร์เดิงนับเป็นจุดหักเหของสงคราม เพราะหลังจากนี้ไปแนวโน้มของการสู้รบจะเปลี่ยนลักษณะไป ความยืดเยื้อของสงครามและการสูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนจำนวนมากทำให้ผู้คนเริ่มถามหา “สันติภาพโดยปราศจากชัยชนะ” (peace without victory) หรือ “สันติภาพโดยปราศจากการผนวกดินแดนหรือการชดใช้ค่าเสียหายจากสงคราม” (peace without annexation or indemnities).



คำตั้ง
Somme, Battle of the
คำเทียบ
ยุทธการที่แม่น้ำซอม
คำสำคัญ
- แผนชลีฟเฟิน
- เพาล์เคนไฮน์, เอริค ฟอน
- มอลท์เคอ, เฮลมุท ฟอน
- ยุทธการที่แม่นํ้าซอม
- ยุทธการที่แม่นํ้ามาร์นครั้งที่ ๑
- ยุทธการที่แวร์เดิง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามสนามเพลาะ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-